Q&A

Q & A เรื่องการสมัครงาน

ถาม : สมัครงานในระบบ แต่เข้าระบบไม่ได้ ต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : หลังจากสมัครสมาชิกในระบบแล้ว ระบบจะส่ง e-mail ให้ผู้สมัคร ผู้สมัครจะต้องทำการยืนยันตัวตน ผ่านลิ้งค์ ใน e-mail ก่อนจะทำการ log in เข้าสู่ระบบ ทั้งนี้สามารถเข้าไปดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่วิธีการและขั้นตอนการใช้งานระบบ

ถาม : ข้อสอบพนักงาน มีเนื้อหาอะไรบ้าง ?
ตอบ : การสรรหาและคัดเลือกพนักงานสายปฏิบัติการวิชาชีพ และบริหารทั่วไป กำหนดให้มีการสอบแข่งขัน ภาคการสอบข้อเขียน ดังนี้
1. ความรู้ความสามารถทั่วไป ความรู้ความสามารถ ในเชิงวิเคราะห์ ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาไทย ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับระเบียบงานสารบรรณ และ/หรือ
2. ความรู้ความสามารถในการใช้ภาษาอังกฤษ และ/หรือ
3. ความรู้ความสามารถเฉพาะตำแหน่งที่ใช้ในการ ปฏิบัติงานในหน้าที่ และ/หรือ
4. ทดสอบปฏิบัติที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งหน้าที่ที่ปฏิบัติ

ถาม : อัตราเงินเดือนเริ่มต้น หรือค่าตอบแทนต่าง ๆ ของตำแหน่งงานที่มหาวิทยาลัยประกาศรับสมัคร มีเกณฑ์พิจารณาอย่างไร (คำถามจากคนภายนอก) ?
ตอบ : อัตราเงินเดือนเริ่มต้นตามคุณวุฒิ
1. พนักงานสายวิชาการ
    1.1 วุฒิปริญญาเอก : 38,000 บาท/เดือน
    1.2 วุฒิปริญญาโท : 26,250 บาท/เดือน
    1.3 วุฒิปริญญาตรี (5 ปี) : 23,700 บาท/เดือน
    1.4 วุฒิปริญญาตรี : 22,500 บาท/เดือน
2. พนักงานสายปฏิบัติการฯ
    2.1 วุฒิปริญญาเอก : 27,950 บาท/เดือน
    2.2 วุฒิปริญญาโท : 22,750 บาท/เดือน
    2.3 วุฒิปริญญาตรี (5 ปี) : 21,300 บาท/เดือน
    2.4 วุฒิปริญญาตรี : 20,200 บาท/เดือน
    2.5 วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) : 14,100 บาท/เดือน
    2.6 วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) : 12,250 บาท/เดือน
3. ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน
    3.1 วุฒิปริญญาเอก : 21,000 บาท/เดือน
    3.2 วุฒิปริญญาโท : 17,500 บาท/เดือน
    3.3 วุฒิปริญญาตรี : 15,000 บาท/เดือน
    3.4 วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง : 10,840 บาท/เดือน
    3.5 วุฒิประกาศนียบัตรวิชาชีพ และตำแหน่งพนักงานขับรถ/แม่บ้าน : 9,400 บาท/เดือน
    3.6 วุฒิต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพ : 8,690 บาท/เดือน

ถาม : ถ้าได้วุฒิการศึกษาเพิ่ม สามารถขอปรับขึ้นเงินเดือนได้หรือไม่ ?
ตอบ : กรณีพนักงานสายวิชาการ ตำแหน่งอาจารย์ ไปศึกษาเพิ่มพูนความรู้ โดยได้รับความเห็นชอบจากมหาวิทยาลัย เมื่อสำเร็จการศึกษาในวุฒิการศึกษาที่สูงขึ้น มหาวิทยาลัยจะปรับอัตราเงินเดือนตามคุณวุฒิที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้ หากอัตราเงินเดือนปัจจุบันที่ได้รับอยู่ สูงกว่าอัตราเงินเดือนเริ่มต้นของคุณวุฒิใหม่ จะไม่ได้รับการปรับอัตราเงินเดือน

Q & A เรื่องการขอตำแหน่งทางวิชาการ

ถาม : การไม่ทำตำแหน่งวิชาการ มีผลต่อการต่อสัญญาจ้างหรือไม่ ?
ตอบ : การยื่นขอตำแหน่งทางวิชาการ มีผลต่อการพิจารณาต่อสัญญาจ้างงาน 10 ปี (หากอยู่ระหว่างเตรียมผลงาน หรืออยู่ระหว่างการยื่นขอ มหาวิทยาลัยจะพิจารณาต่อสัญญาจ้างงาน 10 ปีให้) 

ถาม : กรณีพนักงานบรรจุด้วยวุฒิปริญญาโท ระหว่างทำงานก็ได้ศึกษาต่อในระดับปริญญาเอกจนสำเร็จการศึกษา ระยะเวลาในการขอตำแหน่งทางวิชาการ นับอย่างไร ?
ตอบ : กรณีอาจารย์ได้รับวุฒิเพิ่มขึ้น (วุฒิ ป.เอก) จะนับระยะเวลา การปฏิบัติงานก่อนได้รับวุฒิ (ในวุฒิ ป.โท) และหลังได้รับวุฒิ (ในวุฒิ ป.เอก) รวมกันได้ตามสัดส่วนของระยะเวลาที่กำหนดไว้ ในคุณสมบัติเฉพาะตำแหน่ง (อ้างอิงตามข้อบังคับ มฟล. ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการแต่งตั้งและถอดถอน ผศ. รศ. และ ศ. พ.ศ. 2562 ข้อ 12.2 วรรคสาม และตัวอย่างการคำนวณระยะเวลา ในเอกสารแนบท้าย ข้อบังคับฯ หน้า 46)

ถาม : ผู้เสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการ หากเกษียณอายุราชการ ลาออกไป หรือถึงแก่กรรม ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะพิจารณาอนุมัติให้ดำรงตำแหน่งที่ขอมา จะสามารถได้รับตำแหน่งที่ขอมาได้หรือไม่ ?
ตอบ : ได้ ในกรณีที่มหาวิทยาลัยได้รับเรื่องไว้พิจารณาแล้วก่อนวันที่ผู้ขอตำแหน่งทางวิชาการเกษียณอายุราชการ ลาออกไป หรือถึงแก่กรรม มหาวิทยาลัยจะดำเนินการพิจารณาต่อไปจนเสร็จสิ้น โดยไม่มีการแก้ไขปรับปรุงหรือเพิ่มเติมผลงานทางวิชาการอีก

ถาม : ผลงานทางวิชาการที่ตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ ซึ่งได้รับการตอบรับ (accept) ไว้ตีพิมพ์แล้วนำมายื่นขอตำแหน่งเลยได้หรือไม่ ?
ตอบ : ผลงานที่ได้รับการ accept ไม่สามารถนำมายื่่นเสนอขอกำหนดตำแหน่งได้ มหาวิทยาลัยจะรับพิจารณาผลงานเมื่ีอผลงานมีการระบุหมายเลข DOI หรือเลขหน้า เท่านั้น

ถาม : หากผู้เสนอขอตำแหน่งยื่นขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการแล้วไม่ผ่านจะต้องรออีกนานเท่าไรจึงขอยื่นเสนอขอใหม่ได้อีก ?
ตอบ : เมื่อเสนอขอตำแหน่งทางวิชาการแล้วไม่ผ่านตามเกณฑ์ สามารถเสนอขอใหม่ได้ทันทีหากมีผลงานทางวิชาการเพิ่มขึ้น

ถาม : การเสนอผลงานทางวิชาการ เพื่อขอตำแหน่งทางวิชาการจะเสนอขอระหว่างลาศึกษา หรือฝึกอบรมทั้งในประเทศและต่างประเทศได้หรือไม่ ?
ตอบ : ไม่ได้ หากประสงค์เสนอ ให้เสนอก่อนวันที่ได้รับอนุมัติให้ไปศึกษา/อมรม และการขอให้ขอเฉพาะกรณีปกติ

ถาม : หากผลงานทางวิชาการไม่มีหลักฐานการทำวิจัยในคนหรือสัตว์ สามารถนำมายื่นเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้หรือไม่ ?
ตอบ : กรณีทำวิจัยหลัง 19 ก.ย. 62 (วันที่ประกาศข้อบังคับฯ) หากผลงานทางวิชาการมีการใช้ข้อมูลจากการทำวิจัยในคนหรือสัตย์ ผู้ขอจะต้องยื่นหลักฐานแสดงการอนุญาตจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยของมหาวิทยาลัยที่มีการดำเนินการ กรณีทำวิจัยก่อน 19 ก.ย. 62 จะขึ้นอยู่กับผลงานทางวิชาการแต่ละประเภท ซึ่งหากมีการทำวิจัยในคนหรือสัตว์ ผู้ขอก็จะต้องยื่นหลักฐานฯ เช่นกัน

ถาม : พนักงานลาศึกษาต่อในวุฒิปริญญาเอก ซึ่งปัจจุบันยังไม่จบการศึกษา แต่ต้องกลับมารายงานตัวเข้าปฏิบัติงานก่อน ซึ่งหลังจากกลับมารายงานตัวแล้ว ได้ดำเนินการตีพิมพ์เผยแพร่งานวิจัย ซึ่งไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการรับปริญญาใด สามารถนำมายื่นเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้หรือไม่ ?
ตอบ : หากเป็นผลงานฯ ที่ทำไม่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อสำเร็จการศึกษา (ในวุฒิปริญญาเอก) สามารถนำมายื่นเสนอขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการได้

ถาม : ถ้าผลงานวิจัยอยู่ระหว่างการรอตีพิมพ์ สามารถประเมินผลการสอนได้เลยหรือไม่ ?
ตอบ : ได้ ซึ่งผู้ขอสามารถนำผลการประเมินผลการสอนมาใช้ยื่นเสนอขอได้ภายใน 1 ปี หลังจากที่ได้ทำการประเมินผลการสอนจากคณะอนุกรรมการประเมินผลการสอน (ตามข้อบังคับฯ 2562 ข้อ 15.3)

ถาม : การลงนามรับรองการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการของผู้ร่วมงาน กรณีที่มีผู้ร่วมงานหลายคน และไม่สามารถติดต่อทุกคนให้ลงนามรับรองได้ ต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : หากไม่สามารถติดต่อผู้ร่วมงานให้ลงนามรับรองได้ครบทุกคนให้ดำเนินการดังนี้
(1) กรณีที่ไม่สามารถติดต่อผู้ร่วมงานทุกคนให้ลงนามรับรองได้ ให้ระบุจำนวนผู้ร่วมงานทุกคนและให้ถือว่าผู้ร่วมงานทุกคนมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการเท่าเทียมกัน
(2) กรณีผู้ร่วมงานบางคนไม่สามารถลงนามรับรองการมีส่วนร่วมในผลงานทางวิชาการได้ ให้มีการลงนามรับรองโดยหัวหน้าสาขาวิชาหรือคณบดี และผู้ขอเป็นอย่างน้อย พร้อมทั้งชี้แจงเหตุผลความจำเป็นที่ผู้นั้นไม่สามารถลงนามได้ หรือเหตุผลที่ไม่สามารถระบุการมีส่วนร่วมของผู้นั้นให้ชัดเจนเพื่อประกอบการพิจารณา
ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นผู้พิจารณาเหตุผลความจำเป็นดังกล่าว (ตามเอกสารแนบท้ายข้อบังคับฯ พ.ศ. 2562 ข้อ 1.3)

Q & A เรื่องบัตรพนักงาน

ถาม : ใครทำบัตรประจำตัวพนักงานได้บ้าง ?
ตอบ : 1. บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ จัดทำให้ พนักงานสายบริหารวิชาการ, พนักงานสายวิชาการ, พนักงานสายปฏิบัติการฯ และลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน
          2. บัตรแสดงตนบุคลากร (Smart Card) จัดทำให้ พนักงานสายบริหารวิชาการ, พนักงานสายวิชาการ, พนักงานสายปฏิบัติการฯ, ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน และลูกจ้างตามโครงการ

ถาม : บุคลากรที่ลาออกจะต้องคืนบัตรประจำตัวบุคลากรหรือไม่ ?
ตอบ : ตามระเบียบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วย บัตรประจำตัวผู้บริหาร พนักงาน และลูกจ้างของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง พ.ศ. 2563 และตามประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่อง บัตรแสดงตนบุคลากรมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง กำหนดให้ พนักงานหรือลูกจ้างที่พ้นสภาพการเป็นพนักงาน ต้องส่งคืนบัตรประจำตัวให้แก่มหาวิทยาลัย

ถาม : บัตรพนักงานและบัตรแสดงตนใช้แตกต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : บัตรประจำตัวบุคลากรของมหาวิทยาลัยมี 2 ประเภท คือ
1. บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ เป็นบัตรที่แสดงสถานะความเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีอายุบัตรตามระยะเวลาของสัญญาจ้าง
2. บัตรแสดงตนบุคลากร เป็นบัตรที่ใช้แสดงตนขณะปฏิบัติงานภายในมหาวิทยาลัย, เพื่อผ่านเข้า - ออกอาคารภายในมหาวิทยาลัย, เติมเงินเพื่อใช้ซื้ออาหารที่ศูนย์อาหาร D1 และ E1 และ ใช้เข้า-ออก ห้องสมุดและยืม-คืนหนังสือ

ถาม : บัตรพนักงานและบัตรแสดงตนใช้แตกต่างกันอย่างไร ?
ตอบ : พนักงานสามารถถ่ายภาพพร้อมทำบัตร ได้ที่ห้องสตูดิโอถ่ายภาพนิ่ง ส่วนการเจ้าหน้าที่ ในวันจันทร์ พุธ และ ศุกร์ เวลา 9.00-11.00 น. โดยพนักงานต้องเตรียมชุดสำหรับการถ่ายภาพ
1. บัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐ สวมชุดปกติขาวพร้อมประดับเครื่องหมาย (ท่อนบน)
2. บัตรแสดงตนบุคลากรมหาวิทยาลัย สวมชุดสูทมหาวิทยาลัย เชิ้ตขาว ผู้ชายผูกเนคไทมหาวิทยาลัย * ทั้งนี้สามารถรับบัตรได้ในวันดังกล่าว

ถาม : เราสามารถทำบัตรประจำตัวบุคลากรก่อนหมดอายุได้หรือไม่ ?
ตอบ : สามารถจัดทำบัตรประจำตัวบุคลากรก่อนบัตรหมดอายุได้ ทั้งนี้ กรณีที่ทำบัตรประจำตัวใหม่ เนื่องจากสาเหตุดังต่อไปนี้ ต้องชำระค่าธรรมเนียมตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด
1. บัตรชำรุดหรือสูญหาย
2. เปลี่ยนชื่อตัว ชื่อสกุล หรือคำนำหน้านาม
เว้นแต่กรณีดังต่อไปนี้ ไม่ต้องชำระค่าธรรมเนียม
1. ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งทางวิชาการ
2. ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งใหม่
3. มีการโอนย้ายสังกัด
4. กรณีอื่นที่มหาวิทยาลัยเห็นสมควร

Q & A เรื่องที่พักพนักงาน

ถาม : พนักงานขอย้ายที่พัก ไปอาคารอื่นได้หรือไม่ เนื่องจากที่เดิมมีปัญหาเรื่องความชื้น ?
ตอบ : - สามารถยื่นเรื่องแจ้งความประสงค์โดยแสดงเหตุผลและความจำเป็น ต่อมหาวิทยาลัยเป็นลายลักษณ์ฺอักษรผ่านส่วนการเจ้าหน้าที่
- ผู้พักอาศัยจะสามารถดำเนินการย้ายห้องได้ เมื่อผ่านการพิจารณาอนุมัติจากมหาวิทยาลัย และมีห้องว่างเพียงพอต่อการจัดสรร
- ในการย้ายที่พัก ผู้พักอาศัยสามารถย้ายห้องพักได้ 1 ครั้ง ตลอดระยะเวลาการพักอาศัยในที่พักพนักงานของมหาวิทยาลัย (ระยะเวลา 5 ปี)

Q & A เรื่องทุนการศึกษาและการฝึกอบรม

ถาม : อยากลาไปทำวิจัยภายในประเทศ/ต่างประเทศ ต้องทำอย่างไรบ้าง ?
ตอบ : 1.กรณีขอไปปฏิบัติงานวิจัยนอกมหาวิทยาลัย ภายในประเทศ สามารถลาไปปฏิบัติงานวิจัยในระบบลาออนไลน์ของส่วนการเจ้าหน้าที่ได้ ทั้งนี้ ต้องเป็นโครงการวิจัยที่ได้รับการอนุมัติโครงการิวิจัยหรืออนุมัติให้ปฏิบัติงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยแล้ว
2.กรณีลาเพื่อไปปฏิบัติงานวิจัย ต่างประเทศ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วย การไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน และปฏิบัติงานวิจัย พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉับบที่ 2 และ ฉบับที่ 3 มหาวิทยาลัยอนุมัติให้ลาไปปฏิบัติงานวิจัยได้เป็นระยะเวลาไม่เกิน 1 ปี (ข้อที่ 17 (3) โดยได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนระหว่างลา โดยพนักงานผู้ที่ประสงค์จะลาไปปฏิบัติงานวิจัยสามารถยื่นแบบฟอร์มขอลาไปปฏิบัติงานวิจัย ภายใน 30 วัน ก่อนลา เพื่อส่วนการเจ้าหน้าที่ดำเนินการเสนอมหาวิทยาลัยอนุมัติต่อไป

ถาม : อาจารย์จะขอลาเรียนต่อ โดยไม่ขอรับเงินเดือนได้หรือไม่  ?
ตอบ : ไม่ได้ เนื่องจากระเบียบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วย การไปศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน และปฏิบัติงานวิจัย พ.ศ.2560 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ฉับบที่ 2 และ ฉบับที่ 3 ข้อ 10 กำหนดว่า "กรณีลาศึกษาพนักงานจะได้รับเงินเดือนเต็มจำนวนตลอดระยะเวลาตามหลักสูตรที่ได้รับอนุมัติ"

ถาม : กรณีจะสมัครขอรับทุนแพทย์ประจำบ้าน จะต้องชดใช้ทุนให้ครบ 3 ปีก่อนหรือไม่  ?
ตอบ : ผู้ที่จะสมัครขอรับทุนแพทย์ประจำบ้าน ต้องผ่านการชดใช้ทุนเพิ่มพูนทักษะก่อนจึงสมัครขอรับทุนได้ ยกเว้นสาขาขาดแคลนตามประกาศรับสมัครประเภทที่ 1 (1.1) ไม่ต้องผ่านการปฏิบัติงานชดใช้ทุนก่อน สามารถยื่นสมัครได้เลย ทั้งนี้ กรณีผู้ที่อยู่ระหว่างชดใช้ทุนปีที่ 2 หรือปีที่ 3 ต้องชดใช้เงินทุนให้แก่แพทยสภาหรือรัฐบาลก่อน จึงจะสมัครขอรับทุนได้

ถาม : พนักงานชาวต่างชาติสามารถขอรับทุนและลาศึกษาต่อได้ไหม และกรณีต้องทำสัญญาค้ำประกันจะต้องดำเนินการอย่างไร ?
ตอบ : พนักงานชาวต่างชาติสามารถลาเรียนและขอรับทุนในบางประเภทได้ ทั้งนี้ จำเป็นต้องทำสัญญาค้ำประกันไว้กับมหาวิทยาลัยด้วย โดยพนักงานต้องหาผู้ค้ำประกัน ซึ่งเป็นข้าราชการหรือพนักงานในหน่วยงานของรัฐหรือภาคเอกชนที่มีเงินเดือนไม่น้อยกว่าอัตราเงินเดือนเริ่มต้นของพนักงานมหาวิทยาลัยวุฒิปริญญาตรี

ถาม : พนักงานสายปฏิบัติการอยากขอทุนเรียนต่อที่มฟล. ต้องทำอย่างไรบ้าง ?
ตอบ : มหาวิทยาลัยจัดสรรทุนให้สำหรับพนักงานสายปฏิบัติการฯ ในระดับปริญญาโท ทุกปี จำนวน 5 ทุน โดยพนักงานสามารถติดตามประกาศรับสมัครทุนการศึกษาสำหรับสายปฏิบัติการได้ โดย ส่วนการเจ้าหน้า จะเวียนแจ้งประกาศและหลักเกณฑ์ ในช่วงเดือนมกราคมของทุกปี

 

Q & A เรื่องสวัสดิการ

ถาม : พนักงาน มฟล.ชาย มีลูกกับภรรยาแต่ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็ก พนักงานชายจะเบิกสวัสดิการต่างๆให้กับลูกได้หรือไม่ อย่างไร ?
ตอบ : ระเบียบเกี่ยวกับเงินสวัสดิการเกี่ยวกับการรักษาพยาบาล และค่าศึกษาของบุตรพนักงาน จะเบิกจ่ายให้แก่บิดาโดยชอบด้วยกฎหมายของบุตรเท่านั้น กรณีพนักงานชายที่จะมีสิทธิเบิกเงินสวัสดิการดังกล่าวจะต้องจดทะเบียนสมรสกับภรรยา หรือจดทะเบียนรับรองบุตร หรือได้มีคำสั่งศาลพิพากษาว่าเป็นบิดาของบุตร จึงจะเบิกเงินสวัสดิการได้

ถาม : การเบิกเงินช่วยเหลือค่าทำศพ เบิกได้กรณีไหนบ้างคะ และต้องทำอย่างไร เอกสารประกอบมีอะไรบ้าง ?
ตอบ : มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ออกประกาศหลักเกณฑ์ในการช่วยเหลือค่างานศพสำหรับบุคลากรและครอบครัวบุคลากรมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ดังนี้
1.ผู้มีสิทธิ์เบิกเงินช่วยเหลือค่างานศพ ประกอบด้วย
   1.1 บุคลากร คือ พนักงานสายบริหารวิชาการ สายวิชาการ และสายปฏิบัติการวิชาชีพฯ มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือค่าทำศพ 2 กรณี
         - กรณีบุคลากรเสียชีวิต ได้รับเงินช่วยเหลือ จำนวน 20,000 บาท และค่าพวงหรีด 1,000 บาท
         - กรณีครอบครัวบุคลากรเสียชีวิต (บิดา มารดา สามี ภรรยา บุตรโดยชอบด้วยกฎหมาย อายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์) ได้รับเงินช่วยเหลือ 10,000 บาท และค่าพวงหรีด 1,000 บาท
   1.2 ลูกจ้างชั่วคราวรายเดือนที่มีอายุงานไม่น้อยกว่า 1 ปี มีสิทธิ์ได้รับเงินช่วยเหลือค่าทำศพกรณีเสียชีวิต จำนวน 20,000 บาท และค่าพวงหรีด 1,000 บาท

2. ขั้นตอน การขอเบิก
   *ให้หน่วยงานต้นสังกัด จัดทำบันทึกข้อความขอเบิกเงินช่วยเหลือค่างานศพ เสนอผู้บังคับบัญชาลงนาม
   *ส่งมายังส่วนการเจ้าหน้าที่เพื่อตรวจสอบและตัดจ่ายงบประมาณ
   *เสนอผู้ที่มหาวิทยาลัยมอบหมายอนุมัติการเบิกจ่ายเงิน ตามลำดับ โดยสามารถดาวน์โหลดเอกสารตัวอย่างบันทึกข้อความ และ ประกาศหลักเกณฑ์ได้ที่เว็บไซต์ส่วนการเจ้าหน้าที่
3.เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการเบิกจ่าย ได้แก่
   3.1 สำเนาใบมรณบัตร 1 ฉบับ
   3.2 สำเนาบัตรประชาชน หรือทะเบียนบ้านของผู้เสียชีวิต 1 ฉบับ
   3.3 สำเนาบัตรประชาชนของพนักงานที่ขอเบิกสวัสดิการ 1 ฉบับ
   3.4 สำเนาทะเบียนบ้านของพนักงานที่ขอเบิกสวัสดิการ
   3.5 กรณีที่เบิกค่าช่วยเหลืองานศพของบุตร ให้แนบใบสูติบัตรของบุตร
   3.6 ใบเสร็จค่าพวงหรีด (ถ้ามี)
   3.7 ใบรับรองการจ่ายเงิน (ตามแบบฟอร์มของส่วนการเงินและบัญชี)
* และรับรองสำเนาถูกต้องของเอกสาร

ถาม : มหาวิทยาลัยขึ้นเงินเดือนปีละกี่บาท ?
ตอบ : มหาวิทยาลัยขึ้นเงินเดือนปีละหนึ่งครั้ง โดยอัตราการขึ้นเงินเดือนในภาพรวม มหาวิทยาลัยจะพิจารณาในแต่ละปีโดยขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่ได้รับจัดสรรจากสำนักงบประมาณ ส่วนอัตราขึ้นเงินเดือนของพนักงานแต่ละคน จะแตกต่างกัน โดยมีหลักเกณฑ์ ตามระเบียบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วย การขึ้นเงินเดือนประจำปีของพนักงาน พ.ศ. 2562 

ถาม : หากต้องการเปลี่ยนแผนกองทุนสำรองเลี้ยงชีพต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : พนักงานสามารถติดต่อ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ.กสิกรไทย) เพื่อดำเนินการขอย้ายกองทุนฯผ่านช่องทาง ดังนี้
- Web site www.kasikornasset.com
- Application K-my PVD
- Call contact center 026737887

ถาม : สามารถใช้สิทธิ์รักษาพยาบาลได้ที่โรงพยาบาลใดบ้าง ?
ตอบ : สามารถรักษา ณ สถานพยาบาลของรัฐ และสถานพยาบาลเอกชน ทั้งนี้ในกรณีสถานพยาบาลเอกชน ประเภทผู้ป่วยใน จะต้องเป็นสถานพยาบาลที่มีเตียงรับผู้ป่วยขนาด 50 เตียงขึ้นไป หากเป็นประเภทผู้ป่วยนอก จะต้องมีเตียงรับผู้ป่วยขนาด 10 เตียงขึ้นไป จึงสามารถเบิกค่ารักษาพยาบาลได้

ถาม : กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ดีกว่าเงินสะสมสมทบเดิมอย่างไรบ้าง ควรย้ายหรือไม่ ?
ตอบ : 1. มหาวิทยาลัยสมทบเงิน จำนวน 8% ของเงินเดือน เข้ากองทุนทุกเดือน เพื่อเป็นหลักประกันแก่พนักงานที่เกษียณอายุ หรือออกจากงาน (เท่ากับกองทุนสะสมสมทบ)
          2. นำไปลดหย่อนภาษีเงินได้ ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน ปีละ 10,000 บาท หรือ ส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 15 % ของเงินเดือน ได้อีก ไม่เกิน 490,000 บาท (กองทุนสะสมสมทบลดหย่อนไม่ได้)
          3. ถ้าเป็นสมาชิกกองทุนฯ 5 ปีขึ้นไป ถ้าลาออกจากการเป็นพนักงาน มฟล. ส่วนเงินที่ ม.สมทบ จะไม่ถูกนำไปคำนวณเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษีประจำปี (กองทุนสะสมสมทบต้องถูกนำไปคำนวณภาษี)
          4. สามารถโอนไปกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ของหน่วยงานใหม่ได้ ถ้าหากลาออกจากการเป็นพนักงาน มฟล. (กองทุนสะสมสมทบโอนไม่ได้)
          5. สามารถเลือกแผนการลงทุนได้ มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงกว่า *ทั้งนี้การลงทุนมีความเสี่ยง พนักงานสามารถเลือกแผนการลงทุนที่ความเสี่ยงต่ำที่สุดเท่ากับกองทุนสะสมสมทบไปจนถึงความเสี่ยงมาก (กองทุนสะสมสมทบผลตอบแทนมาจากการนำเงินไปฝากธนาคาร)

ถาม : ครอบครัวพนักงานเสียชีวิต มหาวิทยาลัยช่วยเหลือค่าอะไรบ้าง ?
ตอบ : มหาวิทยาลัยมีเงินช่วยเหลือค่างานศพหรือเป็นเจ้าภาพงานศพ จำนวน 10,000 บาท / ราย และค่าพวงหรีด 1,000 บาท สำหรับกรณีที่บิดา มารดา ภรรยา และบุตรอายุไม่เกิน 25 ปีบริบูรณ์ ของพนักงานที่ถึงแก่ความตาย

ถาม : พนักงานเสียชีวิตได้รับค่าชดเชยหรือไม่ ?
ตอบ : 1. ถ้าพนักงาน เสียชีวิต จากสาเหตุที่ไม่ใช่เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่
               1.1 จะได้รับเงินค่าทำศพ จำนวน 3 เท่า ของอัตราเงินเดือนปัจจุบัน
               1.2 ได้รับเงินช่วยเหลือค่างานศพ จำนวน 20,000 บาท และค่าพวงหรีด ตามที่จ่ายจริงไม่เกิน 1,000 บาท
          2. กรณีพนักงานเสียชีวิต จากสาเหตุที่เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ จะได้รับเงินค่าทำขวัญและค่าทำศพ จำนวน 30 เท่าของเงินเดือน โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการบริหารงานบุคคล
          3. ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชยกรณีออกจากงาน เนื่องจากการพ้นจากตำแหน่งการเป็นพนักงานเกิดจากพนักงานถึงแก่ความตาย จึงสิ้นสภาพบุคคล และมหาวิทยาลัยต้องให้ออกจากงานด้วยเหตุตายของพนักงานนั้น ไม่มีสิทธิได้รับเงินชดเชย

Q & A เรื่องเครื่องราชอิสริยาภรณ์

1. การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ มหาวิทยาลัยดำเนินการตามระเบียบหลักเกณฑ์อะไร ?

ตอบ :   เสนอขอพระราชทานเครื่องราชฯ ให้แก่พนักงานในสังกัดที่มีคุณสมบัติครบถ้วน ตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่เชิดชูยิ่งช้างเผือกและเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันมีเกียรติยศยิ่งมงกุฎไทย พ.ศ. 2564 โดยขอพระราชทานชั้นตราตามตำแหน่ง บัญชี 29 การขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ให้แก่ผู้ดำรงตำแหน่งในสถาบันอุดมศึกษาของรัฐที่ไม่เป็นข้าราชการ ท้ายระเบียบฯ

2. คุณสมบัติของผู้ที่มีสิทธิได้รับการเสนอขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์มีหลักเกณฑ์อะไรบ้าง ?

ตอบ :   1. เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงที่จ้างด้วยงบประมาณแผ่นดิน
            2. มีระยะเวลาการปฏิบัติงาน ณ มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปีบริบูรณ์ นับตั้งแต่วันเริ่มจ้างจนถึงก่อนวันพระราชพิธีเฉลิมพระชนมพรรษา (วันที่ 28 ก.ค.) ของปีที่ขอพระราชทาน
            3. มีผลการประเมินผลการปฏิบัติงานในรอบ 5 ปี ย้อนหลัง ไม่ต่ำกว่าระดับ “ปานกลาง”
            4. ไม่เป็นผู้ถูกลงโทษทางวินัย
            5. เป็นผู้มีอัตราเงินเดือนเริ่มต้นตามคุณวุฒิระดับปริญญาตรี หรือเป็นผู้มีอัตราเงินเดือนเทียบเท่าคุณวุฒิระดับปริญญาตรีขึ้นไป
            6. เป็นผู้ที่รับรองคุณสมบัติบุคคลของตนเอง (แบบ คส.2) ตามระเบียบฯ กำหนด


3. การเลื่อนชั้นตราเครื่องราชอิสริยาภรณ์เป็นอย่างไร ?

ตอบ :   1. พนักงานสายปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารทั่วไป ได้แก่ เจ้าหน้าที่บริหาร, บรรณารักษ์, นักวิทยาศาสตร์, วิศวกร, สถาปนิก, เจ้าหน้าที่วิเคราะห์ระบบคอมพิวเตอร์ และพยาบาล หรือตำแหน่งเทียบเท่า เริ่มขอพระราชทาน ชั้น บ.ม. เลื่อนได้ถึง ชั้น จ.ช. (บ.ม./บ.ช./จ.ม./จ.ช.)
            2. ตำแหน่งแพทย์, แพทย์แผนจีน , นักกายภาพบำบัด, นักวิจัย หรือตำแหน่งเทียบเท่า เริ่มขอพระราชทาน ชั้น บ.ม. เลื่อนได้ถึง ชั้น จ.ช. (บ.ม./บ.ช./จ.ม./จ.ช.)
           3. ตำแหน่งหัวหน้าฝ่าย หรือตำแหน่งเทียบเท่า เริ่มขอพระราชทาน ชั้น จ.ม. เลื่อนได้ถึง ชั้น ต.ม.  (จ.ม./จ.ช./ต.ม.)
           4. ตำแหน่งอาจารย์ และผู้ช่วยศาสตราจารย์ เริ่มขอพระราชทาน ชั้น จ.ช. เลื่อนได้ถึง ชั้น ท.ม. (จ.ช./ต.ม./ต.ช./ท.ม.)
           5. ตำแหน่งรองศาสตราจารย์ เริ่มขอพระราชทาน ชั้น ต.ม. เลื่อนได้ถึง ชั้น ป.ม. (ต.ม./ต.ช./ท.ม./ท.ช./ป.ม.)
           6. ตำแหน่งศาสตราจารย์ เริ่มขอพระราชทาน ชั้น ท.ม. เลื่อนได้ถึง ม.ป.ช. (ท.ม./ท.ช./ป.ม./ป.ช./ม.ว.ม/ม.ป.ช.)
           7.ตำแหน่งผู้ช่วยอธิการบดี, รองคณบดี, รองผู้อำนวยการศูนย์, รองผู้อำนวยการสถาบัน และหัวหน้าส่วน หรือตำแหน่งเทียบเท่า เริ่มขอพระราชทาน ชั้น ต.ม. เลื่อนได้ถึง ชั้น ท.ม. (ต.ม./ต.ช./ท.ม.)
           8. ตำแหน่งรองอธิการบดี, คณบดี, ผู้อำนวยการสำนักงานบริหารกลาง, ผู้อำนวยการสถาบัน และผู้อำนวยการศูนย์ หรือตำแหน่งเทียบเท่า เริ่มขอพระราชทาน ชั้น ท.ม. เลื่อนได้ถึง ท.ช. (ท.ม./ท.ช.)
           9. ตำแหน่งอธิการบดี เริ่มขอพระราชทาน ชั้น ท.ม. เลื่อนได้ถึง ชั้น ป.ม. (ท.ม./ท.ช./ป.ม./ป.ช.)

Q & A เรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงาน

ถาม : การประเมินผลการปฏิบัติงานเพื่อพิจารณาต่อสัญญาจ้างของพนักงาน ผู้รับการประเมินต้องจัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน (ภาระงาน) หรือไม่ ?
ตอบ : ผู้รับการประเมินไม่ต้องจัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน (ภาระงาน) เนื่องจากตามประกาศมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เรื่องการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน กำหนดให้คณะกรรมการประเมินฯ พิจารณาจากข้อมูล 3 ส่วน ได้แก่ ผลการประเมินประจำปีย้อนหลังตามช่วงระยะเวลาของสัญญาจ้างในปัจจุบัน ผลการประเมินตามแบบประเมินศักยภาพ และผลการประเมินตามแบบประเมินพฤติกรรมบุุคคลโดยเพื่อนร่วมงาน ดังนั้น ผู้รับการประเมินจึงไม่ต้องจัดทำแบบประเมินผลการปฏิบัติงาน (ภาระงาน) อนึ่ง พนักงานสายวิชาการ ยังคงต้องจัดทำเอกสารแนบแบบประเมินภาระงานฯ เพื่อรายงานผลการปฏิบัติงานในตำแหน่งอาจารย์ เพื่อให้เป็นไปตาม ข้อบังคับมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวงว่าด้วย การกำหนดมาตรฐานภาระงานทางวิชาการของผู้ดำรงตำแหน่งอาจารย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์ พ.ศ. 2559 โดยต้องกรอกรายละเอียด ดังนี้ https://drive.google.com/file/d/0B-Tf0ep-JlPzVUJvUHAtZTRqQXM/view

ถาม : กรณีที่พนักงานไม่ยินยอมลงลายมือชื่อรับทราบผลการประเมินการปฏิบัติงาน หน่วยงานของพนักงานต้องดำเนินการอย่างไร ?
ตอบ : ตามระเบียบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน พ.ศ.2558 กำหนดไว้ว่า กรณีที่พนักงานไม่ยินยอมลงลายมือชือรับทราบผลการประเมิน ให้ผู้บังคับบัญชา หัวหน้าส่วนงาน หรือหัวหน้าส่วนแล้วแต่กรณี ดำเนินการแจ้งผลการประเมินให้พนักงานทราบกับมอบสำเนาผลการประเมินให้พนักงาน และบันทึกลง วัน เดือน ปี เวลา และสถานที่ ที่แจ้ง และลงลายมือชื่อผู้แจ้งพร้อมพยานผู้รู้เห็นไว้เป็นหลักฐาน ทั้งนี้ หากไม่อาจดำเนินการแจ้งผลการประเมินให้พนักงานทราบได้ตามขั้นตอนข้างต้น ให้หน่วยงานของผู้รับการประเมินแจ้งเป็นหนังสือส่งสำเนาทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับไปให้พนักงานผู้นั้น ณ ที่อยู่ซึ่งปรากฎตามหลักฐานของทางราชการของผู้นั้น

ถาม : การพิจารณาให้คะแนนตามแบบประเมินศักยภาพในการปฏิบัติงานของพนักงาน เพื่อประกอบการประเมินผลการทดลองปฏิบัติงานและการประเมินเพื่อต่อสัญญาจ้าง และตามแบบประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี สามารถให้คะแนนเป็นจุดทศนิยมได้หรือไม่ ?
ตอบ : หน่วยงานสามารถให้คะแนนเป็นจุดทศนิยมได้ แต่ทั้งนี้เมื่อรวมคะแนนทั้งหมดแล้วมีเศษเป็นจุดทศนิยม ให้ตัดเศษทศนิยมทิ้งโดยไม่นำไปพิจารณาคะแนน

ถาม : มหาวิทยาลัยกำหนดรอบการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของพนักงาน อย่างไรบ้าง ?
ตอบ : ตามระเบียบมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง ว่าด้วย หลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงาน พ.ศ.2558 หมวดที่ 3 ข้อที่ 16 กำหนดให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปีของพนักงาน ปีละ 2 ครั้ง เว้นแต่พนักงานสายบริหารวิชาการให้มีการประเมินผลการปฏิบัติงานปีละ 1 ครั้ง (เดือนสิงหาคม -กรกฎาคมของปีถัดไป) โดยมีรอบการประเมิน ดังนี้
-ครั้งที่ 1 เดือนสิงหาคม-มกราคมของปีถัดไป
-ครั้งที่ 2 เดือนกุมภาพันธ์-กรกฎาคม

ถาม : เมื่อส่วนการเจ้าหน้าที่แจ้งให้หน่วยงานดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี ตามรอบการประเมินที่มหาวิทยาลัยกำหนด หน่วยงานไม่ต้องดำเนินการประเมินฯ พนักงานประเภทไหนบ้าง ?
ตอบ : พนักงานที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องดำเนินการประเมินผลการปฏิบัติงานประจำปี มีดังนี้
1. พนักงานที่ดำรงตำแหน่งบริหารวิชาการของมหาวิทยาลัย (ได้แก่ พนักงานที่ดำรงตำแหน่ง รองอธิการบดี,ผู้ช่วยอธิการบดี,คณบดี,ผู้อำนวยการศูนย์,รักษาการแทนคณบดี,รักษาการแทนผู้อำนวยการศูนย์)
2. พนักงานสัญญาจ้างผู้เกษียณ, อาจารย์อาวุโส
3. พนักงานลูกจ้างชั่วคราวรายเดือน (ประเมินเมื่อถึงกำหนดระยะสัญญาจ้าง)
4. พนักงานที่อยู่ระหว่างการลาศึกษาต่อ
5. พนักงานสายวิชาการ ที่มีอายุงานน้อยกว่า 6 เดือน (ในรอบการประเมินนั้น)
6. พนักงานพนักงานสายปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารทั่วไป ที่มีอายุงานต่ำกว่า 3 เดือน (ในรอบการประเมินนั้น)

Q & A เรื่องการลงเวลาปฏิบัติงาน

ถาม : สแกนนิ้วไม่ติดทำไงครับ ?
ตอบ : 1.กรณีสแกนนิ้วไม่ติดและขึ้นขาดงานในระบบ พนักงานสามารถทำหนังสือชี้แจงเหตุผลการขาดงานผ่านระบบลาออนไลน์ กรณีชี้แจงเกินกว่า วันที่ 15 ของเดือนถัดไปให้ส่งแบบฟอร์มชี้แจงการลงเวลามายังส่วนการเจ้าหน้าที่
2.กรณีสแกนนิ้วไม่ติดหลายครั้งพนักงานสามารถขอเก็บลายนิ้วมือใหม่ได้ที่ส่วนการเจ้าหน้าที่

ถาม : เข้างานสาย ต้องชี้แจงว่าอย่างไร ?
ตอบ : เข้างานสายไม่สามารถชี้แจงการลงเวลา เพื่อขอเปลี่ยนเวลาในระบบได้ ทั้งนี้กรณีได้รับมอบหมายให้ไปปฏิบัติงานที่อื่นสามารถชี้แจงการลงเวลาได้ โดยให้ผู้บังคับบัญชาชั้นต้นเป็นผู้พิจารณาอนุมัติ

ถาม : ลาป่วยติดต่อกัน3วันต้องแนบรับรองแพทย์หรือไม่ ?
ตอบ : ตามระเบียบเรื่องการลา พ.ศ. 2562 ข้อ 14 กำหนดให้การลาป่วยที่ติดต่อกันเกิน 3 วันทำการขึ้นไป ให้แนบใบรับรองแพทย์ เพราะฉะนั้นถ้าลา 3 วัน ไม่ต้องมีใบรับรองแพทย์ (ถ้าเกิน3วัน เช่น 3.5วัน หรือ 4 วัน ต้องแนบใบรับรองแพทย์)

ถาม : ลูกจ้างของมหาวิทยาลัยสะสมวันลาพักผ่อนได้หรือไม่ ?
ตอบ : ไม่สามารถสะสมได้

ถาม : สามารถลาประเภทการลาอื่น ก่อนการลาคลอดบุตรได้หรือไม่ ?
ตอบ : ลาได้ แต่เมื่อการลาคลอดบุตรคาบเกี่ยวกับการลาประเภทใด ซึ่งยังไม่ครบกำหนดวันลาของการลาประเภทนั้น ให้ถือว่าการลาประเภทนั้นสิ้นสุดลงและให้นับเป็นการลาคลอดบุตรตั้งแต่วันที่เริ่มลาคลอดบุตร

ถาม : หากลาศึกษาต่ออยู่แล้วต้องลาคลอดบุตรจะนับการลาอย่างไร ?
ตอบ : หากพนักงานอยู่ในระหว่างการลาศึกษาต่อ ไม่จำเป็นต้องขอลาคลอดอีก ทั้งนี้ ไม่ถือเป็นวันลาคลอด

Q & A เรื่องอื่นๆ

ถาม : ทำไมใบลาออกไม่มีให้ดาวน์โหลดในเว็บไซต์ ?
ตอบ : ให้พนักงานติดต่อขอรับแบบฟอร์มด้วยตนเอง เนื่องจากต้องมีการอธิบายขั้นตอนและเอกสารที่ต้องใช้ในการลาออกให้พนักงานทราบ

ถาม : การลาออกจากการเป็นพนักงานต้องทำอย่างไร ?
ตอบ : กรณีพนักงานสายวิชาการต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 90 วัน และพนักงานสายปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารทั้วไปต้องบอกกล่าวล่วงหน้าอย่างน้อย 30 วัน โดยยื่นหนังสือลาออกเสนอผู้บังคับบัญชาและรองอธิการบดีที่กำกับดูแลหน่วยงาน จากนั้นยื่นหนังสือต่อส่วนการเจ้าหน้าที่เพื่อเสนอมหาวิทยาลัยอนุมัติการลาออกต่อไป